ประวัติโรงเรียน
|
 |
โรงเรียนศรีฟารีดาบารูวิทยา เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามควบคู่วิชาสามัญ สังกัดสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาธิการ มีชื่อภาษาอาหรับว่า อัล-มัดรอซะห์อัล-มูฮัมมาดียะห์ ชาวบ้านมักเรียกว่า"ปอเนาะแลเกาะ" ซึ่งเรียกตามที่ตั้งที่เป็นหัวโค้ง ตั้งอยู่กิโลเมตรที่ 12 ถนนสายยะลา-รามัน เลขที่ 376 ถนนยะลาโกตา ตำบลโกตาบารู อำเภอรามัน จังหวัดยะลา โดยมีโต๊ะครูฮัจญีดือราแม ดือราแม สำเร็จการศึกษาด้านศาสนาที่ปอเนาะสำหลา จังหวัดปัตตานี เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2513 โดยก่อตั้งตามคำเรียกร้องของชุมชนในพื้นที่ เพื่อสถานที่อบรมสั่งสอนบุตรหลานเพื่อไปสู่ความโปรดปรานของอัลลอฮ โดยชาวบ้านให้การช่วยเหลือทั้งในการให้ที่ดินเพื่อสร้างที่พัก ช่วยกันสร้างบ้านพัก ถางป่าปลูกต้นไม้และเป็นเพื่อนบ้าน เริ่มแรกมีการสอนกีตับ โดยอาศัยบ้านไม้เก่าๆ เป็นสถานที่ทำการสอน ต่อมาชาวบ้านได้มาช่วยกันสร้างเรือนไม้ที่แข็งแรงขึ้น ระบบการสอนก็คือระบบปอเนาะ มีผู้เรียนที่ไม่จำกัดเพศและวัยประมาณ 50 คน ปัจจุบันเมื่อเนื้อที่ทั้งสิ้น 17 ไร่ 1 งาน 47 ตารางวา ปัจจุบันมีจำนวนบุคลากรทั้งหมด 119 คน มีจำนวนนักเรียนทั้งหมด 1,164 คนนักเรียนชาย 428 คน นักเรียนหญิง 736 คน
ปัจจุบันโรงเรียนได้เปิดทำการสอน ดังนี้
1. ระบบโรงเรียนที่มีการสอนวิชาศาสนาควบคู่วิชาสามัญ ศาสนาตั้งแต่ชั้นอิบตีดาอียะห์ถึงซานาวียะห์ (ชั้น 5-10) สามัญ ก่อนประถมศึกษาและประถมศึกษา ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3) ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6) หลักสูตรต่างๆ ที่ทำการสอนภายใต้การดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ
2. ระบบปอเนาะดั่งเดิมที่เน้นวิชาศาสนา วิชาเกี่ยวกับหลักการปฏิบัติทางศาสนา การอ่านการท่องอัลกุรอาน วิชาเกี่ยวกับจริยธรรมคุณธรรมทักษะการอยู่ร่วมกันในระบบ ปอเนาะ และการสร้างความสามัคคีซึ่งกันและกัน
ในปี พ.ศ. 2550 โรงเรียนศรีฟารีดาบารูวิทยา จังหวัดยะลา ได้รับพระกรุณาจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทรงโปรดให้มูลนิธิชัยพัฒนามอบงบประมาณ 3,671,516 บาท 27 สตางค์ เพื่อเปิดหลักสูตรวิชาชีพ ซึ่งในระยะแรกโรงเรียนได้เชิญผู้ปกครองของนักเรียนที่ต้องการให้บุตรหลานของตนเรียนหลักสูตรวิชาชีพให้รับทราบ ซึ่งโรงเรียนได้เสนอ 5 หลักสูตร คือวิชาชีพช่างไม้เครื่องเรือน วิชาชีพช่างเชื่อมโลหะ วิชาชีพช่างตัดเย็บผ้า วิชาชีพช่างบาติก วิชาชีพช่างอาหารและขนม แต่ในปีการศึกษา 2551 นักเรียนและผู้ปกครองมีความสนใจ 4 หลักสูตร คือ วิชาชีพช่างไม้เครื่องเรือน วิชาชีพช่างเชื่อมโลหะ วิชาชีพช่างตัดเย็บผ้า วิชาชีพช่างบาติก
|